หามานานท่องเที่ยวทั่วไทย
  หน้าแรก > ท่องเที่ยว > บันทึกเรื่องเที่ยว > อุทยานแห่งชาติทั่วไทย > อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
จังหวัดจันทบุรี



ขึ้นเขาคิชฌกูฏ นมัสการรอยพระพุทธบาท อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี


งานเทศกาล ขึ้นเขาคิชฌกูฏ นมัสการรอยพระพุทธบาท คลิกที่นี่..

31 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2557

 
สอบถามข้อมูล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 22210
โทรศัพท์ 039-452074
 
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  การเดินทาง + แผนที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ

  งานเทศกาล ขึ้นเขาคิชฌกูฏ นมัสการรอยพระพุทธบาท อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ

  แผนที่อุทยานแห่งชาติทั่วไทย

  อุทยานแห่งชาติทั่วไทย
 
สถานที่พักแรม


    อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
    อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏ หรือเขาพระบาท ท้องที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขา ทิวทัศน์ที่งดงาม มียอดเขาสูงสุดอยู่ในระดับความสูง 700 เมตร สามลูกเรียงชิด มีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกกระทิง และปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะในด้านความเชื่อถือทางศาสนาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ มีเนื้อที่ประมาณ 58 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,687 ไร่

    ประวัติความเป็นมา :-
    เมื่อปี พ.ศ. 2500 นายกนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นสมควรให้สงวนป่าเขาคิชฌกูฏ ท้องที่ จังหวัดจันทบุรี ไว้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงให้ป่าไม้เขตศรีราชาประสานงานกับป่าไม้จังหวัดจันทบุรีดำเนินการ ซึ่งได้มีประกาศให้ป่าแห่งนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 49 ( พ.ศ. 2508 ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดตั้งป่าเขาคิชฌกูฏ ท้องที่จังหวัดจันทบุรีและป่าอื่นๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่ง ที่ 852/2517 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ให้ นายสมพล วรรณกุล นักวิชาการป่าไม้เอก ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ป่าเขาคิชฌกูฏเป็นลำดับที่ 13 ของป่า ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจพบว่าสภาพป่าตามกฎหมายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ภูเขาสลับซับซ้อน มีสภาพทางธรรมชาติสวยงาม ประกอบด้วย ถ้ำ น้ำตก และมีสัตว์ป่าชุกชุม เหมาะกับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามรายงานการสำรวจ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518

    กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2518 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2518 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนป่าเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 108 ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2519 และดำเนินการจัดตั้งป่าเขาคิชฌกูฏเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาคิชฌกูฏ ในท้องที่ตำบลตะเคียนทอง ตำบลฉมัน ตำบลพลวง และตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 38 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 14 ของประเทศไทย

    สถานที่น่าสนใจ :-
    น้ำตกกระทิง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาคิชฌกูฏ มีความสูงถึง 13 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแบบต่างๆ กัน และมีแอ่งน้ำในสะอาดลงเล่นได้ แต่ละชั้นมีพืชจำพวก มอส เฟิร์น ขึ้นปกคลุมเต็มทั้งสองข้างลำธารเขียวชะอุ่ม เมื่อไม้ผลัดใบ ใบไม้สีเหลืองแกมแดงโรยใบ ปูทางเดินสวยงามยิ่ง น้ำตกกระทิง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 100 เมตร

    ยอดเขาพระบาท เขาพระบาทอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 16.5 กิโลเมตร ไปทางด้านวัดพลวง และต้องเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร บริเวณด้านบนของเขาพระบาทนี้หรือคิชฌกูฏนี้ มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานพระพุทธศาสนา อาทิเช่น ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินเป็นรูปคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้นสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขา สระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำเดือน 4 ของแต่ละปี จะมี งานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นช่วง วันมาฆบูชา ซึ่งประชาชนจะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก

    น้ำตกคลองช้างเซ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12.5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สูงมากและ มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณใกล้ธารน้ำตกมี สถานที่กางเต็นท์พักแรม และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางและดูแลความปลอดภัย น้ำตกตั้งอยู่ในหุบเขาบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาพระบาท เดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ อช. ที่ 1 ( เขาพระบาท ) ระยะทาง 2 กิโลเมตร

    น้ำตกคลองกระสือ เป็นธารน้ำตกขนาดใหญ่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำและพักผ่อน บรรยากาศสงบร่มรื่น อยู่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ ฯ ที่ คก. 2 ( คลองไพบูลย์ ) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 8 กิโลเมตร

    เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ มีอยู่หลายเส้นทาง มีจุดที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ

    สภาพภูมิประเทศ :-
    ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำจันทบุรี มีที่ราบอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย มี ยอดเขาพระบาท เป็น ภูเขาสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร บนเขาพระบาทมีก้อนหินใหญ่ลักษณะกลมเกลี้ยงอยู่ 3 ก้อน สามารถเห็นได้จากพื้นราบนอกเขตอุทยานแห่งชาติ สภาพของดินป็นดินร่วนปนทราย บางแห่งเป็นดินสีแดงและสีเหลือง บนยอดเขาเป็นดินลูกรังและมีหินโผล่ทั่วๆ ไป

    สภาพภูมิอากาศ :-
    สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ

    ฤดูร้อน :- ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน
    ฤดูฝน :- ระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม จะมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 36 องศาเซลเซียส บรรยากาศเย็นชื้น ไม่อบอ้าว เป็นฤดูกาลผลไม้
    ฤดูหนาว :- ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มกราคม

    พรรณไม้ :-
    สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ผสมป่าไม้ผลัดใบ มีพรรณไม้ที่มีค่านานาชนิดขึ้นคละเคล้าปะปนกัน

    พันธุ์ไม้

    พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางแดง มะค่าโมง ประดู่ แดง พยุง ตะแบก กะบาก ไม้กฤษณา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่หายาก และสมุนไพรชนิดต่างๆ เช่น เจ็ดช้างสาร กระวาน ผลสำรอง
    ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไม้ไผ่ชี้ หวาย ระกำ กล้วยป่านานาชนิด เฟิร์น เป็นต้น


    สัตว์ป่า :-
    เนื่องจากสภาพป่าอยู่ในเขตเทือกเขาสูงชัน และประกอบกับราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติไม่ลักลอบล่าสัตว์ เพราะมีอาชีพที่เป็นหลักแหล่งและทำรายได้ดีอยู่แล้ว คือ การทำสวนผลไม้ สัตว์ป่าจึงยังมีชุกชุม เช่น กระทิง เสือ หมี กวาง เก้ง เลียงผา แพะป่า ไก่ป่า และ นกชนิดต่างๆ ตามลำห้วยก็ยังมีปลาพลวง ปลาก้าง ปลาหนวด ปลาดุกรำพัน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก


    ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
    1. ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
    2. ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
    3. ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
    4. ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
    5. หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่



      การเดินทาง + แผนที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ..คลิกที่นี่



   
Custom Search
   
Copyright © 2002 All right reserved. webmaster@hamanan.com ไปหน้าแรกหามานานดอทคอม  
  หน้าแรก > ท่องเที่ยว > บันทึกเรื่องเที่ยว > อุทยานแห่งชาติทั่วไทย > อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ