หามานานท่องเที่ยวทั่วไทย
  หน้าแรก > ท่องเที่ยว > บันทึกเรื่องเที่ยว > อุทยานแห่งชาติทั่วไทย > อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
จังหวัดพิษณุโลก
สอบถามข้อมูล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตู้ ปณ.3 อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 65120
โทรศัพท์ 085-0518084, 055-233527
 
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  การเดินทาง + แผนที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

  ลานหินแตก

  ลานหินปุ่ม

  แผนที่อุทยานแห่งชาติทั่วไทย

  อุทยานแห่งชาติทั่วไทย
 
สถานที่พักแรม


    อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
    มีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภูหินร่องกล้าเป็นแหล่งกำเนิดของประวัติศาสตร์การสู้รบอันยาวนาน เป็นวีรกรรมของนักรบไทย ความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิดที่นำไปสู่ความสูญเสียเลือด ชีวิตและน้ำตา ภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ตลอดจนสภาพสิ่งก่อสร้างในอดีตจะถูกบันทึกเก็บรักษาไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงผลของการใช้กำลังเข้าประหัตประหาร ทำให้เกิดความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 307 ตารางกิโลเมตร หรือ 191,875 ไร่

    ประวัติความเป็นมา :-
    ในปี พ.ศ. 2511-2515 เทือกเขาหินร่องกล้านี้เคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นผลให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองขึ้น ในกลางปี พ.ศ. 2525 ทางราชการทหารจึงได้เปิดยุทธการภูขวาง โดยจัดกองพลผสมจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 กรมการบินศูนย์สงครามพิเศษทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและพลเรือน เข้าปฏิบัติเพื่อยึดภูหินร่องกล้า แต่ไม่สำเร็จเพราะว่าสภาพพื้นที่ไม่อำนวย เนื่องจากภูหินร่องกล้าตั้งอยู่กลางเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นป่ารกทึบ ต่อมากองบัญชาการทหารบกได้เปลี่ยนแผนยุทธการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบายที่ 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 กองทัพภาคที่ 3 และทหารหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 3 ( พตท.33 ) ซึ่งนำโดย พันเอกไพโรจน์ จันทร์อุไร ผู้อำนวยการ พตท.33 ได้นำนโยบายใหม่นี้เข้าปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ โดยไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่น้อย บรรดาชาวบ้านและมวลชนของ ผกค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ( แม้ว ) ได้กลับใจไม่ให้ความร่วมมือกับ ผกค. และเข้ามอบตัวกับทางราชการ ส่วนแกนนำได้ละทิ้งฐานที่มั่นไป จากนั้น พตท.33 จึงได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แห่งนี้โดยการตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้า ต่อมา พตท.33 ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ สร 4001(301)/324 ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2526 ให้กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พิจารณาร่วมและประสานกับกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาจัดตั้งบริเวณภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ

    กรมป่าไม้ โดยกรมป่าไม้มีคำสั่ง ที่ 196/2526 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ให้ นายชุมพล สุขเกษม นักวิชาการป่าไม้ 5 นายไมตรี อนุกูลเรืองกิตต์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 นายมาโนช การพนักงาน นายช่างโยธา 3 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลบริเวณภูหินร่องกล้า ผลการสำรวจสรุปได้ว่า เป็นพื้นที่ที่สภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารและมีลักษณะทางธรรมชาติที่มีจุดเด่นหลายแห่ง เช่น ลานหินแตก ลานหินปุ่ม ประกอบกับเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติ กับคอมมิวนิสต์ มีความเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เป็นผลให้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2526 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2526 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าภูหินร่องกล้าท้องที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2527 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 96 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของประเทศไทย


    สถานที่น่าสนใจ :-
    เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาผิดจากอุทยานแห่งชาติโดยทั่วไป ดังนั้นจุดเด่นที่น่าสนใจต่าง จึงแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ

    ด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ต่างๆ ที่อดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสถานที่เหล่านี้จะได้รับการรักษาดูแลให้คงอยู่ในสภาพเดิม เช่น

    โรงเรียนการเมือง การทหาร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 6 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่ารกทึบหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในบริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร จะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ส่วนเหล่านี้มีทั้งหมด 31 หลัง เป็นบ้านหลังเล็กๆ กระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ภายในบ้านแต่ละหลังจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานอย่างหยาบๆ เศษข้าวของกระจายอยู่เกลื่อน บางหลังเริ่มผุพังเพราะถูกปล่อยให้ร้าง หลังจากมวลชนเข้ามอบตัวแล้ว นอกจากนี้บริเวณตอนกลางของโรงเรียนการเมืองการทหาร มีรถแทรกเตอร์จอดอยู่ 1 คัน ซึ่ง ผกค. ทำการยึดจากบริษัท พิฆเนตร แล้วเผาทิ้งไว้

    สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎ ลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้าและโรงซ่อมเครื่องจักรกล

    หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชน มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมทางที่ตัดมาจากอำเภอหล่มสัก ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยกระเบื้อง บ้านแต่ละหลังจะมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย

    โรงพยาบาล อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาคนป่วยเกือบครบถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และยาชนิดต่างๆ เป็นอันมาก

    กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร ใช้หล่อเลี้ยงคนหลายพันคนบนภูหินร่องกล้า สร้างขึ้นโดยนักศึกษา โดยใช้พลังน้ำขับเคลื่อนกังหันเพื่อหมุนแกนครกกระเดื่องตำข้าว ซึ่งเปรียบเสมือนโรงสีข้าวของ ผกค.

    ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่

    ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นรอยหินที่มีรอยแตก เป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยกรอยแตกนี้ บางรอยก็มีขนาดแคบพอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้เท่านั้น บางรอยกว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ความลึกของร่องหินแตกเหล่านั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคนส์ ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

    ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้ เนื่องจากอยู่บนหน้าผา จึงมีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน

    ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่ม ประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันสามารถเห็น ทิวทัศน์ ได้กว้างไกล โดยเฉพาะภาพวิวพระอาทิตย์ตกดิน จะสวยงามไม่แพ้จุดชมวิวอื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่ ผกค. จะขึ้นไปชูธงแดง ( ฆ้อนเคียว ) ทุกครั้งที่รบชนะทหารของรัฐบาล

    น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 32 ชั้น ปัจจุบันยังไม่มีทางรถเข้าถึง และยังไม่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยว

    น้ำตกร่มเกล้าภราดร เป็นน้ำตกฝาแฝด 2 แห่ง ที่อยู่ติดๆ กัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บนถนนภูหินร่องกล้าประมาณ 4 กิโลเมตร ก่อนถึงโรงเรียนการเมืองการทหารประมาณ 1 กิโลเมตร จากถนนสายใหญ่ จะต้องเดินตัดลงไปบนทางเท้าเป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร ตัวน้ำตกไม่สูงใหญ่นัก แต่สภาพแวดล้อมโดยรอบมีลักษณะเป็นป่าบริสุทธิ์อันงดงามมาก

    น้ำตกศรีพัชรินทร์ ตั้งอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ บริเวณเชิงเขาประมาณ 4-5 กิโลเมตร ปัจจุบันยังไม่มีทางรถเข้าถึง และยังไม่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยว

    น้ำตกผาลาด และน้ำตกตาดฟ้า ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูหินร่องกล้าโดยแยกซ้ายจากหมู่บ้านห้วยน้ำไซ ต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการพลังงานไฟฟ้าห้วยขมึน อันเป็นที่ตั้งของน้ำตกแก่งลาด ขึ้นเขาต่อไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีทางเดินแยกซ้ายลงไปน้ำตกตาดฟ้าหรือน้ำตกด่านกอซอง เป็นน้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่ที่สวยงามมาก

    สภาพภูมิประเทศ :-
    สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยมี ภูลมโล เป็น ยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,664 เมตร จากระดับน้ำทะเล เทือกเขาเหล่านี้จะมีความสูงลดหลั่นลงไปจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยลำน้ำไซ ห้วยน้ำขมึน ห้วยออมสิงห์ ห้วยเหมือดโดน และห้วยหลวงใหญ่

    สภาพภูมิอากาศ :-
    ภูหินร่องกล้ามีสภาพภูมิอากาศคล้ายภูกระดึงและภูหลวง เนื่องจากมีความสูงไล่เลี่ยกันอากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส

    ฤดูร้อน อากาศจะเย็นสบาย
    ฤดูฝน จะมีฝนตกชุก
    ฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำมากประมาณ 0-4 องศาเซลเซียส มีหมอกคลุมทั่วบริเวณ


    พรรณไม้ :-
    อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ 3 ชนิด คือ

    ป่าเต็งรัง เป็นป่าที่ขึ้นในพื้นที่ระดับต่ำ บริเวณเชิงเขา พื้นที่เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และค่อนข้างแห้งแล้ง
    พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง พยอม เหียง ตะคร้อ พลวง ฯลฯ

    ป่าดิบเขา Hill Evergreen Forest จะขึ้นในบริเวณเขาสูง ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก อากาศชื้นเป็นป่ารกทึบ
    พันธุ์ไม้ที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ก่อเดือย ก่อหัวหมู อบเชย ทะโล้
    ไม้พื้นล่าง ได้แก่ หวาย ปาล์มชนิดต่างๆ

    ป่าสนเขา เป็นป่าบนที่ราบหลังภู
    พันธุ์ไม้ที่พบ มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน ส่วนใหญ่เป็นสนสองใบ บางแห่งอยู่รวมกันเป็นป่าสนกว้างใหญ่

    นอกจากนี้ ยังพบ กล้วยไม้ป่า ดอกไม้ป่า หลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน เช่น ม้าวิ่ง เอื้องตาหิน เอื้องคำหิน เอื้องสายสามสี ช้องนางคลี่ เหง้าน้ำทิพย์ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ฟองหิน รวมทั้งมอส เฟิร์น ไลเคนล์ และตะไคร่ชนิดต่างๆ ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว ดอกไม้ป่าเหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งมีสีสันงดงามมาก


    สัตว์ป่า :-
    ในอดีตภูหินร่องกล้า มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ กวาง เก้ง กระจง นกชินดต่างๆ ครั้นต่อมาเมื่อกลายเป็นแหล่งอาศัยของคนจำนวนมาก และยังเคยเป็นสมรภูมิแห่งการสู้รบมาก่อน สัตว์ป่าต่างๆ จึงถูกล่าเป็นอาหาร ในปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ สงบลง ได้มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น เสือ เก้ง กระจง หมี และนกหลายชนิด เข้ามาอาศัยอยู่มากมายแล้ว


    ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
    1. ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
    2. ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
    3. ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
    4. ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
    5. หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่



      การเดินทาง + แผนที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า..คลิกที่นี่



   
Custom Search
   
Copyright © 2002 All right reserved. webmaster@hamanan.com ไปหน้าแรกหามานานดอทคอม  
  หน้าแรก > ท่องเที่ยว > บันทึกเรื่องเที่ยว > อุทยานแห่งชาติทั่วไทย > อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า